เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็น ภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี แต่ในปัจจุบันการเฉลิมฉลองในประเพณีสงกรานต์นั้นได้ละทิ้งความงดงามของ ประเพณีในสมัยโบราณไปเกือบหมดสิ้น คงไว้เพียงแต่ภาพลักษณ์แห่งความสนุกสนาน
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
ตำนานนางสงกรานต์
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัยต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบ เขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
- ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
- ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
- ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังพระยาวราหะ (หมู)
- ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มัณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
- ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงของ้าว พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังพระยาคชสาร (ช้าง)
- ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
- ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
- วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
- วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
- วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
- วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
- วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
- วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
- วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
กิจกรรมในวันสงกรานต์
- การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
- การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
- การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
- บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
- การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
ครูบาอาจารย์
ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน
ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
- การดำหัว จุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำทางภาคกลาง พบเห็นได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงเราเคารพนับถือต่อพระ, ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีอาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อยเทียนและดอกไม้
- การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
- การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป
- แหล่งที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น